วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2559 เวลา 13.30-17.30 น.
เนื้อหาและความรู้ที่ได้รับ
- วันนี้ อาจารย์ให้ทำกิจกรรม โดยอันดับแรกให้รำวง แล้วมีเงื่อนไขให้จับกลุ่มกัน เพื่อความสนุกสนานผ่อนคลาย และเป็นการเตรียมความพร้อมในการเรียนด้วย
กิจกรรมต่อมา ให้แต่ละกลุ่มคิดเนื้อเรื่องนิทาน โดยกำหนดว่า ให้สมมติว่าทุกอย่างบนโลกนี้สามารถพูดได้ เช่น เก้าอี้พูดได้ ตู้เสื้อผ้าพูดได้ เป็นต้น ให้เวลา 30 นาทีในการแต่งนิทาน สมาชิกในกลุ่มจะแบ่งกันเป็นผู้แสดง และผู้พากย์
เมื่อครบกำหนดเวลา กลุ่มแรก ก็ออกไปนำเสนอ โดยมีชื่อนิทานว่า
- การเดินทางของจักรยาน ซึ่งให้ข้อคิดเกี่ยวกับ มารยาทการใช้รถใช้ถนน, คุณค่าของสิ่งของ, ความอดทนของจักรยาน
- เจ้าเท้าเพื่อนรัก ให้ข้อคิดเกี่ยวกับ ความสามัคคี, ความรัก การประคับประคองกันและกัน
- ชาวประมงกับปลา ให้ข้อคิดเกี่ยวกับ ความสามัคคี, การเอาตัวรอดให้พ้นจากอันตราย
- รองเท้าที่หายไป (กลุ่มพวกเราเองค่ะ) ให้ข้อคิดเกี่ยวกับ การเก็บของให้เป็นระบบระเบียบ, การมีระเบียบวินัยในตนเอง
- ก้อนเมฆเพื่อนรัก ให้ข้อคิดเกี่ยวกับ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
นิทานเรื่อง รองเท้าที่หายไป
เช้านี้อากาศแจ่มใส มะลิตื่นเต้นดีใจที่จะได้ไปเที่ยวทะเล
มะลิจึงไม่รีรอที่จะไปอาบน้ำ
มะลิ : “อาบน้ำแล้วสดชื่นจังเลย
ไปเลือกเสื้อผ้าที่จะใส่ไปทะเลดีกว่า”
เสื้อผ้า : “สวัสดีมะลิ
วันนี้จะไปไหนเหรอ”
มะลิ : “มะลิจะไปทะเลจ้ะ
พี่ ๆ ช่วยเลือกเสื้อผ้าให้มะลิหน่อยนะคะ”
เสื้อผ้า : “ใส่ฉันสิ”,
“ใส่ฉันดีกว่า ฉันสวยมากเลยนะ”
มะลิ : “ใจเย็น
ๆ นะพี่ วันนี้มะลิคิดว่าจะใส่พี่กระโปรงกับพี่เสื้อยืด แต่พี่ ๆ ตัวอื่นไม่ต้องเสียใจนะ
มะลิจะเอาใส่กระเป๋าไปด้วยทั้งหมดเลย”
ชุดว่ายน้ำ “มะลิ อย่าลืมเอาฉันไปด้วยนะ”
จากนั้นมะลิก็ลากกระเป๋าเพื่อไปใส่รองเท้า...
มะลิ : “เอ๊ะ!
พี่รองเท้าอีกข้างหนึ่งหายไปไหนเนี่ย”
รองเท้าอีกข้าง : “พี่ก็ไม่รู้เหมือนกันจ้ะมะลิ ตื่นมาตอนเช้าก็ไม่เจอแล้ว”
มะลิ : “มะลิก็จำไม่ได้
แต่ว่ามะลิไม่ได้เก็บไว้ในตู้รองเท้านะ”
เสื้อยืด : “ฉันว่าต้องอยู่ในบ้านแน่เลย”
กระโปรง : “ฉันว่าน่าจะโดนดุ๊กดิ๊กเอาไปซ่อนนะ”
แม่ : “มะลิ
ไปกันได้แล้วลูก”
มะลิ : “แต่มะลิยังหารองเท้าข้างนั้นไม่เจอเลยค่ะ”
แม่ : “ใส่คู่อื่นมาก็ได้จ้ะ”
มะลิ : “ค่ะแม่”
คุณนายตื่นสาย : “สวัสดีจ้าทุกคน หาอะไรกันอยู่เหรอ”
มะลิ : “รองเท้าค่ะ
รองเท้าอีกข้างของมะลิหายไป”
คุณนายตื่นสาย : ใช่คู่นี้ไหมจ๊ะ เมื่อคืนเจ้าดุ๊กดิ๊กคาบมาไว้”
มะลิ : “ใช่ค่ะ”
คุณนายตื่นสาย : “ขอโทษด้วยนะ พอดีฉันตื่นสาย”
มะลิ : “ไม่เป็นไรค่ะ
มะลิไปก่อนนะคะ”
เมื่อแสดงหรือเล่านิทานเสร็จ อาจารย์ก็จะถามเพื่อนว่าได้ข้อคิดจากนิทานเรื่องนี้อย่างไร ที่จะสามารถนำไปสอนเด็กได้ และมีกระบวนการในการทำงานในกลุ่มอย่างไร วางแผนอย่างไร อะไรเป็นสิ่งที่ท้าทายในการแต่งนิทานนี้
ภาพกิจกรรม
- จากการทำกิจกรรมในวันนี้ ทำให้เราได้ฝึกการตั้งประเด็น สร้างเรื่อง โดยมีโครงเรื่อง กำหนดเรื่อง กำหนดตัวละคร การสร้างสรรค์บทละคร กำหนดให้สิ่งต่าง ๆ สามารถพูดได้ ในการแสดงนิทานทุกคนในกลุ่มต้องมีส่วนร่วม
- รูปแบบของการนำเสนอหรือเล่านิทาน ได้แก่
- บรรยายด้วยแสดงด้วย (ดีที่สุด)
- แสดงอย่างเดียว
- บรรยายอย่างเดียว
- จากนั้นอาจารย์ก็ให้ประเมิน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันว่า จากกิจกรรมความรู้สึกของตนเอง ได้ประโยชน์อะไรบ้าง (คิดมา 1 ประโยค) และภาพรวมของกลุ่ม ได้ประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหาต่าง ๆ การยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งและกัน การได้สร้างสรรค์นิทานจากสิ่งที่กำหนด ทำให้มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ และได้ทักษะการนำเสนอ ความกล้าแสดงออก
- กิจกรรมต่อมา คือ การเลือกเพลง และใช้ร่างกายกำกับจังหวะของเพลงนั้น เช่น เพลงช้าง ก็ตบขา ตีพื้น ให้เข้ากับจังหวะเพลง เป็นต้น โดยแต่ละกลุ่มจะใช้ร่างกายกำกับจังหวะที่ต่างกัน
การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
- ความรู้ต่าง ๆ ในวันนี้ ตั้งแต่การทำกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อม เราสามารถนำไปประยุกต์ในการสอนเด็กปฐมวัยในขั้นนำของกิจกรรมต่าง ๆ ได้
- การแต่งนิทาน ทำให้ได้ระดมความคิดแต่ละคนในกลุ่มแล้วมาสร้างสรรค์เป็นเรื่องราว ตามกติกาที่กำหนด ทำให้มีทักษะ มีประสบการณ์ในการแต่งนิทาน และการแสดงออก ที่จะใช้ในการเรียนการสอนของเด็กปฐมวัยมากขึ้น สามารถนำกิจกรรมนี้ไปใช้กับเด็กได้ เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ตามวัยทั้ง 4 ด้าน โดยเน้นที่ความคิดสร้างสรรค์
การประเมินผล
ประเมินตนเอง : ตั้งใจเรียน และสนุกกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ความร่วมมือในการทำงานกลุ่มอย่างเต็มที่
ประเมินเพื่อน : เพื่อน ๆ สนุกสนานในการทำกิจกรรม และรับผิดชอบ มีส่วนร่วมในการทำงานกลุ่ม ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ประเมินอาจารย์ : อาจารย์ให้คำแนะนำทุกกลุ่มอย่างละเอียด เพื่อเป็นความรู้ในการพัฒนาตนเองต่อไป และอบรมสั่งสอนคุณธรรม การเป็นครู