พุยพุย

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559

บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 11

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2559 เวลา 13.30-17.30 น.
เนื้อหาและความรู้ที่ได้รับ
  • วันนี้ อาจารย์ให้ทำกิจกรรม โดยอันดับแรกให้รำวง แล้วมีเงื่อนไขให้จับกลุ่มกัน เพื่อความสนุกสนานผ่อนคลาย และเป็นการเตรียมความพร้อมในการเรียนด้วย

          กิจกรรมต่อมา ให้แต่ละกลุ่มคิดเนื้อเรื่องนิทาน โดยกำหนดว่า ให้สมมติว่าทุกอย่างบนโลกนี้สามารถพูดได้ เช่น เก้าอี้พูดได้ ตู้เสื้อผ้าพูดได้ เป็นต้น ให้เวลา 30 นาทีในการแต่งนิทาน สมาชิกในกลุ่มจะแบ่งกันเป็นผู้แสดง และผู้พากย์

          เมื่อครบกำหนดเวลา กลุ่มแรก ก็ออกไปนำเสนอ  โดยมีชื่อนิทานว่า
  1. การเดินทางของจักรยาน ซึ่งให้ข้อคิดเกี่ยวกับ มารยาทการใช้รถใช้ถนน, คุณค่าของสิ่งของ, ความอดทนของจักรยาน
  2. เจ้าเท้าเพื่อนรัก ให้ข้อคิดเกี่ยวกับ ความสามัคคี, ความรัก การประคับประคองกันและกัน
  3. ชาวประมงกับปลา ให้ข้อคิดเกี่ยวกับ ความสามัคคี, การเอาตัวรอดให้พ้นจากอันตราย
  4. รองเท้าที่หายไป (กลุ่มพวกเราเองค่ะ) ให้ข้อคิดเกี่ยวกับ การเก็บของให้เป็นระบบระเบียบ, การมีระเบียบวินัยในตนเอง
  5. ก้อนเมฆเพื่อนรัก ให้ข้อคิดเกี่ยวกับ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
นิทานเรื่อง รองเท้าที่หายไป

          เช้านี้อากาศแจ่มใส มะลิตื่นเต้นดีใจที่จะได้ไปเที่ยวทะเล มะลิจึงไม่รีรอที่จะไปอาบน้ำ
มะลิ : “อาบน้ำแล้วสดชื่นจังเลย ไปเลือกเสื้อผ้าที่จะใส่ไปทะเลดีกว่า”
เสื้อผ้า : “สวัสดีมะลิ วันนี้จะไปไหนเหรอ”
มะลิ : “มะลิจะไปทะเลจ้ะ พี่ ๆ ช่วยเลือกเสื้อผ้าให้มะลิหน่อยนะคะ”
เสื้อผ้า : “ใส่ฉันสิ”, “ใส่ฉันดีกว่า ฉันสวยมากเลยนะ”
มะลิ : “ใจเย็น ๆ นะพี่ วันนี้มะลิคิดว่าจะใส่พี่กระโปรงกับพี่เสื้อยืด แต่พี่ ๆ ตัวอื่นไม่ต้องเสียใจนะ มะลิจะเอาใส่กระเป๋าไปด้วยทั้งหมดเลย”
ชุดว่ายน้ำ “มะลิ อย่าลืมเอาฉันไปด้วยนะ”
          จากนั้นมะลิก็ลากกระเป๋าเพื่อไปใส่รองเท้า...
มะลิ : “เอ๊ะ! พี่รองเท้าอีกข้างหนึ่งหายไปไหนเนี่ย”
รองเท้าอีกข้าง : “พี่ก็ไม่รู้เหมือนกันจ้ะมะลิ ตื่นมาตอนเช้าก็ไม่เจอแล้ว”
มะลิ : “มะลิก็จำไม่ได้ แต่ว่ามะลิไม่ได้เก็บไว้ในตู้รองเท้านะ”
เสื้อยืด : “ฉันว่าต้องอยู่ในบ้านแน่เลย”
กระโปรง : “ฉันว่าน่าจะโดนดุ๊กดิ๊กเอาไปซ่อนนะ”
แม่ : “มะลิ ไปกันได้แล้วลูก”
มะลิ : “แต่มะลิยังหารองเท้าข้างนั้นไม่เจอเลยค่ะ”
แม่ : “ใส่คู่อื่นมาก็ได้จ้ะ”
มะลิ : “ค่ะแม่”
คุณนายตื่นสาย : “สวัสดีจ้าทุกคน หาอะไรกันอยู่เหรอ”
มะลิ : “รองเท้าค่ะ รองเท้าอีกข้างของมะลิหายไป”
คุณนายตื่นสาย : ใช่คู่นี้ไหมจ๊ะ เมื่อคืนเจ้าดุ๊กดิ๊กคาบมาไว้”
มะลิ : “ใช่ค่ะ”
คุณนายตื่นสาย : “ขอโทษด้วยนะ พอดีฉันตื่นสาย”
มะลิ ไม่เป็นไรค่ะ มะลิไปก่อนนะคะ

          เมื่อแสดงหรือเล่านิทานเสร็จ อาจารย์ก็จะถามเพื่อนว่าได้ข้อคิดจากนิทานเรื่องนี้อย่างไร ที่จะสามารถนำไปสอนเด็กได้ และมีกระบวนการในการทำงานในกลุ่มอย่างไร วางแผนอย่างไร อะไรเป็นสิ่งที่ท้าทายในการแต่งนิทานนี้

ภาพกิจกรรม



















  • จากการทำกิจกรรมในวันนี้ ทำให้เราได้ฝึกการตั้งประเด็น สร้างเรื่อง โดยมีโครงเรื่อง กำหนดเรื่อง กำหนดตัวละคร การสร้างสรรค์บทละคร กำหนดให้สิ่งต่าง ๆ สามารถพูดได้ ในการแสดงนิทานทุกคนในกลุ่มต้องมีส่วนร่วม
  • รูปแบบของการนำเสนอหรือเล่านิทาน ได้แก่
  1. บรรยายด้วยแสดงด้วย (ดีที่สุด)
  2. แสดงอย่างเดียว
  3. บรรยายอย่างเดียว 
  • จากนั้นอาจารย์ก็ให้ประเมิน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันว่า จากกิจกรรมความรู้สึกของตนเอง ได้ประโยชน์อะไรบ้าง (คิดมา 1 ประโยค) และภาพรวมของกลุ่ม ได้ประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหาต่าง ๆ การยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งและกัน การได้สร้างสรรค์นิทานจากสิ่งที่กำหนด ทำให้มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ และได้ทักษะการนำเสนอ ความกล้าแสดงออก
  • กิจกรรมต่อมา คือ การเลือกเพลง และใช้ร่างกายกำกับจังหวะของเพลงนั้น เช่น เพลงช้าง ก็ตบขา ตีพื้น ให้เข้ากับจังหวะเพลง เป็นต้น โดยแต่ละกลุ่มจะใช้ร่างกายกำกับจังหวะที่ต่างกัน



การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
  • ความรู้ต่าง ๆ ในวันนี้ ตั้งแต่การทำกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อม เราสามารถนำไปประยุกต์ในการสอนเด็กปฐมวัยในขั้นนำของกิจกรรมต่าง ๆ ได้
  • การแต่งนิทาน ทำให้ได้ระดมความคิดแต่ละคนในกลุ่มแล้วมาสร้างสรรค์เป็นเรื่องราว ตามกติกาที่กำหนด ทำให้มีทักษะ มีประสบการณ์ในการแต่งนิทาน และการแสดงออก ที่จะใช้ในการเรียนการสอนของเด็กปฐมวัยมากขึ้น สามารถนำกิจกรรมนี้ไปใช้กับเด็กได้ เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ตามวัยทั้ง 4 ด้าน โดยเน้นที่ความคิดสร้างสรรค์
การประเมินผล

ประเมินตนเอง  :  ตั้งใจเรียน และสนุกกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ความร่วมมือในการทำงานกลุ่มอย่างเต็มที่
ประเมินเพื่อน  :  เพื่อน ๆ สนุกสนานในการทำกิจกรรม และรับผิดชอบ มีส่วนร่วมในการทำงานกลุ่ม ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ประเมินอาจารย์  :  อาจารย์ให้คำแนะนำทุกกลุ่มอย่างละเอียด เพื่อเป็นความรู้ในการพัฒนาตนเองต่อไป และอบรมสั่งสอนคุณธรรม การเป็นครู 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น