พุยพุย

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559

บันทึกเพิ่มเติม
วันที่ไม่มีการเรียนการสอน

13 กันยายน 2559 " สอบกลางภาค "
14 ตุลาคม 2559 " วันหยุดชดเชย วันปิยมหาราช "


บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 12

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2559 เวลา 09.00-12.00 น.



  • วันนี้ เป็นชั่วโมงสุดท้ายในการเรียนการสอน แต่ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรมาก อาจารย์ได้นัดหมายให้นักศึกษาทั้ง 2 กลุ่มเรียน มาประชุมเกี่ยวกับการลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนที่ 2 รวมทั้งการบอกรายละเอียดเกี่ยวกับแนวข้อสอบต่าง ๆ 
  • และมีการเช็คใบปั๊มทั้งวิชา การให้การศึกษาผู้ปกครองเด็กปฐมวัย และวิชาการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย จากนั้นก็สรุปว่า ใครจะได้รางวัลเด็กดี และได้สีเมจิกคนละ 1 ชุด




รางวัลเด็กดี จากอาจารย์ตฤณ แจ่มถิน




รางวัลเด็กดี จากอาจารย์กฤตธ์ตฤณน์ ตุ๊หมาด


          วันนี้ รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลเด็กดีกับอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน ซึ่งเป็นรางวัลที่ทรงคุณค่า เป็นกำลังในการเรียน ในการทำความดีต่อไป ขอบพระคุณอาจารย์ที่เอาใจใส่และนำรางวัลเด็กดีที่มีคุณค่านี้มาให้กับนักศึกษาค่ะ...



บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 11

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2559 เวลา 13.30-17.30 น.
เนื้อหาและความรู้ที่ได้รับ
  • วันนี้ อาจารย์ให้ทำกิจกรรม โดยอันดับแรกให้รำวง แล้วมีเงื่อนไขให้จับกลุ่มกัน เพื่อความสนุกสนานผ่อนคลาย และเป็นการเตรียมความพร้อมในการเรียนด้วย

          กิจกรรมต่อมา ให้แต่ละกลุ่มคิดเนื้อเรื่องนิทาน โดยกำหนดว่า ให้สมมติว่าทุกอย่างบนโลกนี้สามารถพูดได้ เช่น เก้าอี้พูดได้ ตู้เสื้อผ้าพูดได้ เป็นต้น ให้เวลา 30 นาทีในการแต่งนิทาน สมาชิกในกลุ่มจะแบ่งกันเป็นผู้แสดง และผู้พากย์

          เมื่อครบกำหนดเวลา กลุ่มแรก ก็ออกไปนำเสนอ  โดยมีชื่อนิทานว่า
  1. การเดินทางของจักรยาน ซึ่งให้ข้อคิดเกี่ยวกับ มารยาทการใช้รถใช้ถนน, คุณค่าของสิ่งของ, ความอดทนของจักรยาน
  2. เจ้าเท้าเพื่อนรัก ให้ข้อคิดเกี่ยวกับ ความสามัคคี, ความรัก การประคับประคองกันและกัน
  3. ชาวประมงกับปลา ให้ข้อคิดเกี่ยวกับ ความสามัคคี, การเอาตัวรอดให้พ้นจากอันตราย
  4. รองเท้าที่หายไป (กลุ่มพวกเราเองค่ะ) ให้ข้อคิดเกี่ยวกับ การเก็บของให้เป็นระบบระเบียบ, การมีระเบียบวินัยในตนเอง
  5. ก้อนเมฆเพื่อนรัก ให้ข้อคิดเกี่ยวกับ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
นิทานเรื่อง รองเท้าที่หายไป

          เช้านี้อากาศแจ่มใส มะลิตื่นเต้นดีใจที่จะได้ไปเที่ยวทะเล มะลิจึงไม่รีรอที่จะไปอาบน้ำ
มะลิ : “อาบน้ำแล้วสดชื่นจังเลย ไปเลือกเสื้อผ้าที่จะใส่ไปทะเลดีกว่า”
เสื้อผ้า : “สวัสดีมะลิ วันนี้จะไปไหนเหรอ”
มะลิ : “มะลิจะไปทะเลจ้ะ พี่ ๆ ช่วยเลือกเสื้อผ้าให้มะลิหน่อยนะคะ”
เสื้อผ้า : “ใส่ฉันสิ”, “ใส่ฉันดีกว่า ฉันสวยมากเลยนะ”
มะลิ : “ใจเย็น ๆ นะพี่ วันนี้มะลิคิดว่าจะใส่พี่กระโปรงกับพี่เสื้อยืด แต่พี่ ๆ ตัวอื่นไม่ต้องเสียใจนะ มะลิจะเอาใส่กระเป๋าไปด้วยทั้งหมดเลย”
ชุดว่ายน้ำ “มะลิ อย่าลืมเอาฉันไปด้วยนะ”
          จากนั้นมะลิก็ลากกระเป๋าเพื่อไปใส่รองเท้า...
มะลิ : “เอ๊ะ! พี่รองเท้าอีกข้างหนึ่งหายไปไหนเนี่ย”
รองเท้าอีกข้าง : “พี่ก็ไม่รู้เหมือนกันจ้ะมะลิ ตื่นมาตอนเช้าก็ไม่เจอแล้ว”
มะลิ : “มะลิก็จำไม่ได้ แต่ว่ามะลิไม่ได้เก็บไว้ในตู้รองเท้านะ”
เสื้อยืด : “ฉันว่าต้องอยู่ในบ้านแน่เลย”
กระโปรง : “ฉันว่าน่าจะโดนดุ๊กดิ๊กเอาไปซ่อนนะ”
แม่ : “มะลิ ไปกันได้แล้วลูก”
มะลิ : “แต่มะลิยังหารองเท้าข้างนั้นไม่เจอเลยค่ะ”
แม่ : “ใส่คู่อื่นมาก็ได้จ้ะ”
มะลิ : “ค่ะแม่”
คุณนายตื่นสาย : “สวัสดีจ้าทุกคน หาอะไรกันอยู่เหรอ”
มะลิ : “รองเท้าค่ะ รองเท้าอีกข้างของมะลิหายไป”
คุณนายตื่นสาย : ใช่คู่นี้ไหมจ๊ะ เมื่อคืนเจ้าดุ๊กดิ๊กคาบมาไว้”
มะลิ : “ใช่ค่ะ”
คุณนายตื่นสาย : “ขอโทษด้วยนะ พอดีฉันตื่นสาย”
มะลิ ไม่เป็นไรค่ะ มะลิไปก่อนนะคะ

          เมื่อแสดงหรือเล่านิทานเสร็จ อาจารย์ก็จะถามเพื่อนว่าได้ข้อคิดจากนิทานเรื่องนี้อย่างไร ที่จะสามารถนำไปสอนเด็กได้ และมีกระบวนการในการทำงานในกลุ่มอย่างไร วางแผนอย่างไร อะไรเป็นสิ่งที่ท้าทายในการแต่งนิทานนี้

ภาพกิจกรรม



















  • จากการทำกิจกรรมในวันนี้ ทำให้เราได้ฝึกการตั้งประเด็น สร้างเรื่อง โดยมีโครงเรื่อง กำหนดเรื่อง กำหนดตัวละคร การสร้างสรรค์บทละคร กำหนดให้สิ่งต่าง ๆ สามารถพูดได้ ในการแสดงนิทานทุกคนในกลุ่มต้องมีส่วนร่วม
  • รูปแบบของการนำเสนอหรือเล่านิทาน ได้แก่
  1. บรรยายด้วยแสดงด้วย (ดีที่สุด)
  2. แสดงอย่างเดียว
  3. บรรยายอย่างเดียว 
  • จากนั้นอาจารย์ก็ให้ประเมิน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันว่า จากกิจกรรมความรู้สึกของตนเอง ได้ประโยชน์อะไรบ้าง (คิดมา 1 ประโยค) และภาพรวมของกลุ่ม ได้ประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหาต่าง ๆ การยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งและกัน การได้สร้างสรรค์นิทานจากสิ่งที่กำหนด ทำให้มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ และได้ทักษะการนำเสนอ ความกล้าแสดงออก
  • กิจกรรมต่อมา คือ การเลือกเพลง และใช้ร่างกายกำกับจังหวะของเพลงนั้น เช่น เพลงช้าง ก็ตบขา ตีพื้น ให้เข้ากับจังหวะเพลง เป็นต้น โดยแต่ละกลุ่มจะใช้ร่างกายกำกับจังหวะที่ต่างกัน



การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
  • ความรู้ต่าง ๆ ในวันนี้ ตั้งแต่การทำกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อม เราสามารถนำไปประยุกต์ในการสอนเด็กปฐมวัยในขั้นนำของกิจกรรมต่าง ๆ ได้
  • การแต่งนิทาน ทำให้ได้ระดมความคิดแต่ละคนในกลุ่มแล้วมาสร้างสรรค์เป็นเรื่องราว ตามกติกาที่กำหนด ทำให้มีทักษะ มีประสบการณ์ในการแต่งนิทาน และการแสดงออก ที่จะใช้ในการเรียนการสอนของเด็กปฐมวัยมากขึ้น สามารถนำกิจกรรมนี้ไปใช้กับเด็กได้ เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ตามวัยทั้ง 4 ด้าน โดยเน้นที่ความคิดสร้างสรรค์
การประเมินผล

ประเมินตนเอง  :  ตั้งใจเรียน และสนุกกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ความร่วมมือในการทำงานกลุ่มอย่างเต็มที่
ประเมินเพื่อน  :  เพื่อน ๆ สนุกสนานในการทำกิจกรรม และรับผิดชอบ มีส่วนร่วมในการทำงานกลุ่ม ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ประเมินอาจารย์  :  อาจารย์ให้คำแนะนำทุกกลุ่มอย่างละเอียด เพื่อเป็นความรู้ในการพัฒนาตนเองต่อไป และอบรมสั่งสอนคุณธรรม การเป็นครู 



บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 10

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2559 เวลา 13.30-17.30 น.

เนื้อหาและความรู้ที่ได้รับ
  • วันนี้ อาจารย์ ดร.จินตนา สุขสำราญ ได้ทบทวนว่าได้เรียนวิชานี้กับอาจารย์มาทั้งหมด 4 ครั้งแล้ว ทุกกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจารย์พาทำ หรือมอบหมาย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการส่งเสริมประสบการณ์ด้านความคิดสร้างสรรค์ทั้งนั้น
  • จากนั้น อาจารย์ก็ให้ทำกิจกรรม เตรียมความพร้อมในการเรียน คือ การฝึกให้คิดนอกกรอบ เช่น การมองรูปทรง หรือลักษณะของดวงจันทร์ ภูเขา สิ่งรอบ ๆ ตัวเรา มุมมองแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ก็เหมือนกับการสอนเด็ก ถ้าหากเด็กตอบในลักษณะที่ต่างจากเพื่อน ใช่ว่าความคิดของเขาจะผิด เพราะคำว่าสร้างสรรค์ไม่มีคำว่าผิด เราสามารถคิดริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา
  • กิจกรรมต่อมา คือ ให้นักศึกษาตอบคำใดก็ได้ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "มะ" ซึ่งเป็นการฝึกให้เราคิดคล่องแคล่ว เพื่อจะนำไปสู่การคิดสร้างสรรค์นั่นเอง
  • จากนั้น ให้ทำท่าทางตรงกับพยางค์ของชื่อเรา แตกต่างกันไป เช่น การตบ การตี ใช้ร่างกาย ให้เกิดเสียง โดยไม่ให้ปรบมือ เป็นต้น
          ซึ่งองค์ประกอบนั้นได้แก่
  1. ร่างกาย
  2. พื้นที่
  3. ระดับ (หาเกณฑ์)
  4. ทิศทาง
  • จากนั้น อาจารย์ก็ให้แบ่งกลุ่ม ๆ ละ 5 คน ให้คิดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะมานำเสนอ ซึ่งจะมีทั้งการเคลื่อนไหวพื้นฐาน และเคลื่อนไหวสัมพันธ์เนื้อหา
กลุ่มพวกเราได้นำเสนอการเคลื่อนไหวสัมพันธ์เนื้อหา
(เคลื่อนไหวตามคำบรรยาย)

โดยได้บรรยายเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของไก่
เริ่มตั้งแต่การฟักไข่ ออกจากไข่ เป็นลูกเจี๊ยบ คุ้ยเขี่ยหาอาหาร
โตเต็มตัว เป็นต้น 

ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เด็กได้ออกกำลังกาย และฝึกทักษะความคิดสร้างสรรค์ไปด้วย


ภาพกิจกรรม














การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
  • การนำเสนอของแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันไป ตั้งแต่การเคลื่อนไหวพื้นฐาน และการเคลื่อนไหวสัมพันธ์เนื้อหา ซึ่งการได้ออกมานำเสนอ หรือได้ดูบ่อย ๆ จะทำให้เราสามารถมีความรู้ มีทักษะในการสอน หรือการคิดกิจกรรมที่จะส่งเสริมประสบการณ์ทางด้านความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กมากยิ่งขึ้น และทำให้ทราบสิ่งที่ควรแก้ไขจากคำแนะนำของอาจารย์ ที่เราจะนำไปพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นได้
การประเมินผล

ประเมินตนเอง  :  ตั้งใจเรียน และสนุกสนานจากการทำกิจกรรม ไม่เครียดจากการเรียน เพราะมีกิจกรรมให้ได้เคลื่อนไหวร่างกาย
ประเมินเพื่อน  :  เพื่อน ๆ นำเสนอการเคลื่อนไหวได้หลากหลาย สร้างความสนุกสนาน ความน่าสนใจให้กับการเรียน
ประเมินอาจารย์  :  อาจารย์ให้คำแนะนำดี ๆ กับทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน เอาใจใส่ทุกรายละเอียด รวมทั้งการสอนคุณธรรมจริยธรรมในการเป็นครู ในการใช้ชีวิตด้วย




บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 9

วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2559 เวลา 13.30-17.30 น.
เนื้อหาและความรู้ที่ได้รับ

  • วันนี้ อาจารย์ให้ออกไปนำเสนอของเล่น ของใช้ที่แต่ละคนได้ประดิษฐ์มา โดยนำเสนอว่า สิ่งของนี้คืออะไร ใช้ทำอะไร เล่นอย่างไร จะส่งเสริมพัฒนาการเด็กในด้านใด ยกตัวอย่างเช่น ตาชั่ง กระดานเขียนข้อความ โต๊ะเครื่องแป้ง ตู้กดน้ำ บ้านตุ๊กตา ที่ปั๊มลูกโป่ง ที่ใส่แปรงสีฟัน สปริงเกอร์ ที่ใส่กระดาษทิชชู ที่วางหนังสือ ที่เหลาดินสอ กล่องใส่ปลั๊กไฟ โทศทัศน์จากกล่อง ชั้นวางของ เตาแก๊ส ไฟจราจร เป็นต้น

มาชมภาพกิจกรรมกันค่ะ
























  • สิ่งของต่าง ๆ เหล่านี้ เราทำมาจากวัสดุเหลือใช้ หรือวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด โดยการนำมาประดิษฐ์สร้างสรรค์ให้เป็นทั้งสิ่งของเครื่องใช้ หรือเป็นของเล่น สำหรับการเล่นบทบาทสมมติของเด็ก ๆ ได้ โดยไม่ต้องซื้อของเล่นราคาแพง และพ่อแม่ผู้ปกครอง สามารถประดิษฐ์และเล่นกับลูกได้ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวให้ดียิ่งขึ้นด้วย

          จากนั้น อาจารย์ก็ให้ทุกคนตั้งคำถาม หรือประเด็นปัญหาขึ้นมาคนละ 1 คำถาม โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
  1. การตั้งประเด็นปัญหา เช่น จะทำอย่างไรได้บ้าง ถ้า........ แต่......... จะทำอย่างไร ?
  2. ตั้งประเด็นเกี่ยวกับประสบการณ์ เช่น ถ้าอยากให้เด็กได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับการแต่งกายต้องทำอย่างไร เป็นต้น
          โดยคำถามนั้นจะต้องสอดคล้องกับผลงานของเราที่นำเสนอในวันนี้


การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้

  • สามารถนำไปใช้ในการผลิตสื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัย และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้จริง เช่น กบเหลาดินสอ ที่ใส่กระดาษทิชชู ชั้นวางของ ชั้นวางหนังสือ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อสิ่งเหล่านี้ และเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่า
การประเมินผล

ประเมินตนเอง  :  รับผิดชอบในงานที่ตนเองได้รับมอบหมาย ส่งงานตรงต่อเวลา และได้เรียนรู้สิ่งของแปลกใหม่จากเพื่อน ๆ 
ประเมินเพื่อน  :  เพื่อน ๆ รับผิดชอบในงาน และมีการนำเสนอผลงานหลากหลาย ให้ข้อคิด คำปรึกษาซึ่งกันและกันในการทำงาน
ประเมินอาจารย์  :  อาจารย์สอนตรงต่อเวลา ให้ความเป็นกันเอง ให้คำแนะนำความรู้ที่ดีเพื่อให้นักศึกษานำไปต่อยอดในการทำงานครั้งต่อ ๆ ไป